๐ ปลุกจิตให้ตื่นด้วยพลังแห่งความรู้สึก ๐
 
 
 
 
" ปลุกจิตให้ตื่นด้วยพลังแห่งความรู้สึก "

    พลังแห่งความรู้สึกจะทำให้เรามีความสุข รู้จักตนเอง รู้จักผู้อื่น และสามารถนำเอาหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง  การสร้างพลังแห่งความรู้สึกดังกล่าวมีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. ความแตกต่างระหว่างความคิดและความรู้สึก
ขึ้นชื่อว่า  “ความคิด” ที่ผุดขึ้นมาเองตามธรรมชาติจากจิตที่ไม่มีคุณภาพล้วนหาดีไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อเราตกอยู่ในหลุมดำของความคิด เราจะมีแต่ความอึดอัด ไม่พอใจ เศร้าหมอง อยากมีอยากเป็นอยากได้ ยึดมั่นถือมั่น หงุดหงิดรำคาญใจ หวาดกลัว วิตกกังวลไม่มั่นใจ ลังเลสงสัย คาดเดาไปเอง เบื่อหน่ายง่วงซึม เพราะความคิดทั้งหลายล้วนถูกครอบงำไปด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน ความเป็นตัวกูของกู ความเอาแต่ใจตัวเอง ความอยากจะบังคับโลกให้เป็นไปตามที่ใจเราต้องการ และความยึดมั่นถือมั่น ในทางกลับกัน ถ้าเราสามารถสร้างพลังแห่งความรู้สึกให้เกิดขึ้นในจิตได้ เราจะมีแต่ความสุข สงบ เบาสบาย  ผ่องใส ว่องไว ปราดเปรียว พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ยึดติดอยู่กับอดีต ไม่กังวลไปกับอนาคต รับรู้และปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ เองตามธรรมชาติ ส่วนสิ่งที่ยังไม่สำเร็จ จิตหรือพลังแห่งความรู้สึกก็จะจดจ่อต่อไปจนงานเหล่านั้นลุล่วงไปได้ด้วยดี ความคิดที่ผุดขึ้นมาก็จะเป็นความคิดที่ดีและเป็นกุศลสามารถนำมาพัฒนาชีวิตและจิตวิญญาณต่อไป

2. ความคิดก่อให้เกิดอารมณ์
อารมณ์มีอยู่สามชนิดคือ อารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ และอารมณ์เฉย ๆ แต่ส่วนใหญ่ความคิดของมนุษย์ซึ่งมีสิ่งอกุศลสะสมอยู่ตามธรรมชาติถึง 84,000 ประเภท อารมณ์ที่เกิดขึ้นจึงมักเป็นอารมณ์ทุกข์ ฉะนั้น เมื่อเราเกิดความอึดอัดไม่สบายใจ ให้เราลองถามตัวเองดูว่า เรากำลังคิดเรื่องอะไร เพราะคนส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังคิดอยู่ คิดมากี่เรื่อง เริ่มคิดมานานเท่าไร มารู้ตัวอีกทีก็เกิดเป็นอารมณ์อึดอัด สับสน และเป็นทุกข์เสียแล้ว หากเรารู้ว่าเรากำลังคิดหรือกำลังทุกข์เรื่องอะไรอยู่ และรู้เหตุแห่งทุกข์นั้น เราจึงจะสามารถออกจากกองทุกข์เหล่านั้นได้
ในทางกลับกัน การจะปลูกฝังความคิดที่ดี คุณธรรมจริยธรรมไว้ในจิตใจนั้นจะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพราะเป็นการทวนกระแสจิตที่ชอบไหลไปสู่ทางต่ำ อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาชีวิตทางโลกและทางธรรมล้วนต้องอาศัยการขบคิดทั้งสิ้นแต่จะต้องเป็นความคิดที่ดีและมีคุณภาพ การคิดอย่างมีคุณภาพคือการคิดโดยมีพลังแห่งความรู้สึกห่อหุ้มอยู่ตลอดเวลา ความคิดที่ออกมาจะเปี่ยมไปด้วยปัญญา เป็นปัจจุบันกาล และมีสัปปุริสธรรม 7 คือ “รู้เหตุ รู้ผล”คือ รู้ว่าเหตุปัจจัยใดก่อให้เกิดผลอะไร “ รู้ตน รู้ประมาณ” คือ รู้กำลังของตนเองและรู้ว่าควรทำกิจใดแค่ไหนประการใด “รู้เวลา รู้สถานที่” คือ รู้กาละเทศะ รู้ว่าสิ่งใดควรทำไม่ควรทำ เพราะอะไร และสุดท้ายคือ “รู้บุคคล”ได้แก่ การรู้ว่าบุคคลที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยนั้นเป็นคนอย่างไร มีจริตนิสัยอย่างไร มีประสงค์ดีหรือร้าย และเราควรจะคบหาสมาคมด้วยหรือไม่อย่างไร เป็นต้น
  
3. การสร้างพลังความรู้สึกให้ปรากฎขึ้นอย่างชัดเจน เข้มข้น และต่อเนื่อง
บางคนอาจจะเคยสงสัยว่า ในเมื่อเราก็พยายามพูดดี ทำดี คิดดี หรือแม้แต่พยายามศึกษาข้อธรรมคำสอนต่าง ๆ แล้ว แต่ทำไมบางครั้งจิตใจเราก็ยังจมอยู่ในกองทุกข์  อีกทั้ง ในบางครั้งเราก็ยังเผลอพูดจานินทาส่อเสียดผู้อื่นอีกเสียด้วย ทำไมจิตใจของเราจึงไม่ซึมซับความคิดที่ดีหรือสัมมาทิฏฐิเข้าไปบ้าง คำตอบคือ เพราะจิตใจเราจมอยู่ในหลุมดำของความคิด สัมมาทิฏฐิและข้อธรรมคำสอนจึงไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปในจิตใจได้

วิธีการฝึกจิตให้ออกจากวังวนของความคิด มีดังนี้
1) รู้เนื้อรู้ตัวอยู่เสมอ
2) ทำใจสบาย อยู่ได้ทุกสภาวะ
3) กระทบแต่อย่ากระเทือน

การฝึกความรู้เนื้อรู้ตัว รับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของร่างกายในทุกอิริยาบถ สิ่งนี้จะเป็นประตูไปสู่พลังแห่งความรู้สึกเพราะร่างกายจะเป็นตัวแสดงสภาวะทางอารมณ์และความรู้สึก ตัวอย่างเช่น เวลาเราโกรธ ลมหายใจจะสั้นและขาดห้วง หัวใจจะเต้นเร็ว ใบหน้าจะร้อน เป็นต้น ในขณะที่เรามีความรู้เนื้อรู้ตัวนั้นเราจะต้องใช้หลักพุทธธรรมมาสอนจิตด้วยได้แก่  (1) “ความคิด” ทั้งหลายเป็นสิ่งที่มนุษย์อุปโลกขึ้น ห้ามเชื่อ ห้ามยึดมั่นถือมั่นในความคิดใดความคิดหนึ่งโดยเด็ดขาด (2) เมื่อมีสิ่งใดผ่านเข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และจิตใจ ให้สอนจิตว่า ให้รับรู้อย่างเดียวแต่อย่ากระเทือน (3) สรรพสิ่งในโลกนี้มีสุข-ทุกข์ มีได้-เสีย มีสมหวัง-ผิดหวัง มีสรรเสริญ-นินทา ต้องมองเป็นเรื่องธรรมดา (4) สรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนเกิดดับและเปลี่ยนแปลง มันยึดถือไขว่ไว้ไม่ได้สักอย่างเดียว (5) ทำใจให้สบาย ๆโลกก็เป็นอย่างนั้นเองจะเอาอะไรกันนักหนา สิ่งใดที่ควรทำก็จงทำต่อไปและทำด้วยใจที่สบาย  (6) โลกนี้เป็นอนัตตาบังคับไม่ได้ สรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนเกิดจากเหตุและปัจจัย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะไม่สามารถบังคับโลกได้แต่เราสามารถสร้างเหตุและปัจจัยใหม่เพื่อเปลี่ยนผลที่จะเกิดขึ้นได้
 
 

 


 
 
 
 
 
 
Copyright © 2017 Fast English.
All Rights Reserved.
@