เคล็ดในการเรียนสู่ความสำเร็จ
 
  
     บทความนี้กล่าวถึงเรื่อง “วิธีการเรียนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ” โดยเนื้อหาจะถูกแบ่งเป็นวิธีการเรียนในสองระดับชั้น ได้แก่ การเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา และการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย
มีใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้
 
      ระดับชั้นมัธยมศึกษา
      1. ตั้งเป้าหมาย
เริ่มตั้งเป้าหมายว่า เราอยากจะเข้าคณะอะไร ในสถาบันการศึกษาแห่งไหน ซึ่งคณะและสถาบันการศึกษาดังกล่าวจะต้องเป็นสายวิชาที่เราชอบ เพราะถ้าเราได้เรียนในสิ่งที่เราชอบเราจะมีความสุขและประสบความสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ฉะนั้น เมื่อตั้งเป้าหมายได้แล้วว่าจะเรียนที่ไหน หลังจากนั้นให้ไปเยี่ยมชมคณะและมหาวิทยาลัยด้วยตนเอง เพื่อซึมซับบรรยากาศและความรู้สึกต่าง ๆ ณ สถานที่แห่งนั้น พยายามจดจำภาพและความรู้สึกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เมื่อภาพทุกภาพถูกตรึงเข้าไปในจิตใต้สำนึกของเรา สิ่งนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้เราเกิดกำลังใจในการอ่านหนังสือ และจะเป็นตัวที่คอยเตือนให้เรามีสติรู้ว่า ตอนนี้เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในชีวิตคืออะไร ตอนนี้เราควรทำสิ่งใดและไม่ควรทำสิ่งใด นอกจากนั้น นักเรียนที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งจิตว่า “จะต้องเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยดังกล่าวให้ได้” เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนและแน่นอนตรึงอยู่ในใจแล้ว ให้เริ่มตั้งใจอ่านหนังสือด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเท รวมสมาธิทั้งหมดลงสู่เรื่องเรียนอย่างเดียว เรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องความรักจะต้องพักเอาไว้ก่อน มิฉะนั้น จิตใจเราจะวอกแวกว้าวุ่น สมาธิจะแตก ห่วงหน้าพะวงหลัง ทำให้อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง และจะทำให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ในที่สุด
      2. ศึกษาแนวข้อสอบ
ศึกษาแนวข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยย้อนหลังสิบปี ลองฝึกทำและวิเคราะห์ดูว่าเราถนัดและไม่ถนัดเรื่องไหนบ้าง เพื่อจะรู้ว่าความสามารถที่แท้จริงของเรานั้นอยู่ในระดับไหน ยังต้องปรับปรุงในส่วนใดอีกบ้าง และควรเริ่มทำในเรื่องเรื่องที่ยากและสำคัญที่สุดก่อน 
      3. ให้ความสำคัญกับวิชาหลักของคณะที่เราจะสอบเข้า
ให้สนใจและให้ความสำคัญที่วิชาหลักของคณะที่เราจะสอบเข้า เช่น คณะบริหารธุรกิจให้เน้นที่วิชาเลขและวิชาภาษาอังกฤษ เป็นต้น โดยวิชาดังกล่าวนั้น เราจะต้องทำคะแนนให้ได้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จึงจะมีโอกาสสูงในสอบติด
      4. เรียนพิเศษเสริมในโรงเรียนกวดวิชา
เลือกเรียนพิเศษในโรงเรียนกวดวิชาดี ๆ เพราะคุณครูตามโรงเรียนกวดวิชานั้นจะมีการศึกษาและวิเคราะห์ข้อสอบมาเป็นอย่างดีแล้ว พร้อมกับการมีเทคนิคต่าง ๆ ในการสอนและในการทำข้อสอบ ทำให้เรียนแล้วไม่น่าเบื่อ และยังช่วยให้เราทำข้อสอบได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว นอกจากนั้น การเรียนในโรงเรียนกวดวิชาจะทำให้เรามีความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น เพราะบรรยากาศเอื้ออำนวยให้เรียน เนื่องจากนักเรียนที่ไปเรียนในโรงกวดวิชานั้น ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กที่มีความขวนขวายในการศึกษาเล่าเรียน และมีความมุ่งมั่นที่จะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ จึงทำให้บรรยากาศนั้นน่าเรียนตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การเรียนในโรงเรียนย่อมมีความสำคัญด้วยเช่นเดียวกันเพราะเป็นการสอนตั้งแต่ระดับพื้นฐานเพื่อช่วยในการนำไปต่อยอดความรู้จากสถาบันกวดวิชาต่อไป
      5. สรุปเนื้อหาความรู้ของแต่ละวิชา
ทบทวนและสรุปเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ ที่ได้ร่ำเรียนมาจากทั้งในโรงเรียนและสถาบันกวดวิชา โดยการถามตัวเองว่า แก่นความรู้ของวิชานี้อยู่ตรงไหน เนื้อหาสำคัญมีอะไรบ้าง มีประเด็นใดที่เราต้องศึกษาเพิ่มเติม เราเข้าใจถ่องแท้แล้วหรือยัง และเราจำอะไรได้บ้าง เป็นต้น การสรุปเนื้อหาคือ การคุยกับตัวเองและเขียนสรุปประเด็นออกมาเป็นข้อ ๆ เพื่อทำให้เราเห็นตนเองชัดขึ้น จะได้ไม่เกิดความท้อในการอ่านหนังสือ เพราะเมื่อเขียนออกแล้วเราจะรู้ว่าสิ่งใดควรอ่านบ้างและมีมากน้อยเพียงใด ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่มากอย่างเราคิดไว้ก็ได้
      6. สวดมนต์เพื่อสร้างกำลังสมาธิ
กำลังสมาธิจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจเนื้อหาได้อย่างง่ายดาย จดจำข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว สามารถตอบคำถามได้อย่างตรงประเด็น และอ่านเท่าไรก็ไม่เหนื่อย ฉะนั้น กำลังสมาธิจึงเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะการพยายามจดจำข้อมูลมากมายในระยะเวลาที่จำกัด หากไม่มีกำลังสมาธิเพียงพอคงจะทำได้ยาก หรืออาจจะต้องเสียเวลามากจนเกินไป
 
      ระดับมหาวิทยาลัย 
      1. ตั้งเป้าหมาย
ตั้งเป้าหมายว่า “เราจะต้องคว้าเกียรตินิยมมาให้ได้” สิ่งนี้สำคัญมากเพราะการได้เกรดเฉลี่ยดี ๆ จะช่วยให้นักศึกษาสามารถเรียนต่อ และหางานได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้น นักศึกษาจะต้องตระหนักอยู่ในใจเสมอว่า การเรียนเก่งจะทำเราได้รับการยอมรับจากสังคม หางานง่าย และเป็นเกียรติประวัติติดตัวตลอดกาล ฉะนั้น นักศึกษาจึงไม่ควรลงเรียนในรายวิชาที่เนื้อหามีความยากจนเกินไป หรือในกรณีที่คุณครูผู้สอนถ่ายทอดความรู้ไม่เก่ง ทำให้เรียนเข้าใจยาก และถึงแม้ว่าอาจารย์คนนั้นจะเก่งแค่ไหนก็ตาม วิชานี้ก็ไม่ควรเลือกที่จะลงเรียนเพราะอาจทำให้เรียนไม่จบหรือได้คะแนนไม่ดี อย่างไรก็ตาม หากเป็นวิชาบังคับเลือกไม่ได้ นักศึกษาจะต้องตั้งใจเรียนให้มากขึ้น หมั่นทบทวนวิชาความรู้ และปรึกษาอาจารย์ผู้สอนหากมีเนื้อหาที่ไม่เข้าใจ เป็นต้น
      2. เห็นข้อดีของการตั้งใจเรียน
การตั้งใจเรียนจะเป็นการสร้างระเบียบวินัยในชีวิต ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่า คนที่เรียนเก่งประสบความสำเร็จมักจะมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ รู้ว่าควรทำอะไร เมื่อไหร่และอย่างไร ฉะนั้น การตั้งใจเรียนให้ประสบความสำเร็จนอกจากจะได้เกรดเฉลี่ยสูง ๆ แล้ว ยังจะเป็นการช่วยสร้างนิสัยที่ดีได้ด้วย ฉะนั้น ช่วงเวลาสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัยจะเป็นสี่ปีแห่งการค้นหาตัวเองว่า แท้จริงแล้วเราชอบอะไรกันแน่ เมื่อเรียนจบแล้วเราอยากทำอาชีพอะไร ยิ่งเราค้นพบตัวเองได้เร็วเท่าไร เราจะยิ่งมีความสุขในการเรียนมากยิ่งขึ้น ทุก ๆ วันที่ผ่านไปจะเสมือนการก้าวข้ามสะพาน ซึ่งจะนำพาเราไปถึงเป้าหมายที่เราใฝ่ฝันไว้ เราจะเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้นไปอีก เมื่อนั้นผลการเรียนย่อมดีขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน
      3. ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องไปเรียนต่อต่างประเทศให้ได้
การเรียนต่อต่างประเทศมีข้อดีมากมาย นอกจากจะเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับตัวเองแล้ว เรายังสามารถนำความรู้ที่ทันสมัยมาพัฒนาประเทศชาติต่อไปได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากเราขาดแคลนทุนทรัพย์ในการจะไปเรียนต่อต่างประเทศ เรายิ่งจะต้องตั้งใจเรียนมากขึ้น และพยายามชิงทุนการศึกษาเพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศให้ได้
      4. สวดมนต์เพื่อสร้างกำลังสมาธิ
กำลังสมาธิจะช่วยให้เราเรียนรู้ได้รวดเร็ว มีความจำดี เรียนได้โดยไม่เครียด และประหยัดเวลาในการจดจำและทบทวนบทเรียน ทำให้เราสามารถใช้เวลาที่เหลือไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้อีกด้วย
      5. ตั้งใจเรียน เข้าเรียนสม่ำเสมอ และหมั่นทบทวนเนื้อหาเป็นประจำ
ขณะที่เรียนเราควรพยายามสร้างมโนภาพตามเนื้อหาที่อาจารย์สอน แล้วสรุปเนื้อหาออกมาเป็นประเด็น ๆ จดเป็นคำหลัก ๆ 2-3 คำ หลังจากนั้น ให้นำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลอย่างเป็นระบบโดยให้สรุปเป็นประเด็นสำคัญโดยการคุยกับตัวเองว่า วันนี้เราเรียนอะไรไป ประเด็นหลักคืออะไร และให้เขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งการสรุปเนื้อหานี้อาจทำวันต่อวันหรือสัปดาห์ละครั้งก็ได้ 
      6. ปลูกฉันทะในการเรียน
พยายามบอกตัวเองว่า เรามาเรียน เพื่อนำวิชาความรู้ไปประกอบอาชีพ และเพื่อไปเรียนต่อเมืองนอก ฉะนั้น เราจะต้องตั้งใจเรียนต่อไป เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนรู้ว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ และทำไปเพื่ออะไร เราจึงจะเรียนอย่างมีความสุข และในขณะที่เรียน ให้หมั่นถามตัวเองว่า วิชาที่เรากำลังเรียนอยู่นี้ มีเนื้อหาเหมือนกับที่เราเคยรู้มาหรือไม่ หรือขัดแย้งกับความรู้เดิม หรือเป็นความรู้ใหม่ เป็นต้น เพื่อหัดให้ตนเองรู้จักการฝึกคิดพิจารณาและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งทักษะนี้สามารถนำไปใช้ในการทำงานในอนาคตได้อีกด้วย
      7. หัดเดาข้อสอบ
ลองจินตนาการว่า ถ้าเราเป็นครู เราน่าจะออกข้อสอบอะไร และในขณะที่ทบทวนบทเรียนอยู่นั้น หากเนื้อหาใดที่ไม่เข้าใจ ควรไปหาความรู้เพิ่มเติมหรือสอบถามอาจารย์ผู้สอนอีกครั้ง
      8. เลือกทบทวนบทเรียนในช่วงเวลาที่ร่างกายและจิตใจเรามีความพร้อมมากที่สุด
ช่วงเวลาของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนถนัดในการอ่านหนังสือตอนกลางคืนมากกว่าตอนเช้าตรู่ เป็นต้น ฉะนั้น เราต้องสังเกตว่าช่วงเวลาใดเป็นช่วงที่เหมาะกับเรามากที่สุด 
      9. อย่าเรียนมากนัก
การเรียนมากกว่าคนอื่นบางทีก็มิได้เป็นตัวตัดสินว่า เราเก่งกว่าผู้อื่น เพราะในความเป็นจริงแล้ว ความรู้ย่อมมิได้มีอยู่เพียงแค่ในตำราเท่านั้น การเรียนมากเกินไปจะทำให้คิดไม่เป็น เพราะจะเน้นท่องจำอย่างเดียว ฉะนั้น การเรียนที่ถูกต้องคือ เมื่อเรียนแล้วจะต้องกลับไปทบทวนและนำความรู้ต่างมาขบคิดพิจารณาด้วย 
      10. ฝึกภาษาอังกฤษให้แตกฉาน
ทั้งการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน เพราะความรู้ในปัจจุบัน มักมาจากตำราภาษาอังกฤษ ฉะนั้น หากเรามีความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาย่อมเป็นการดี และสิ่งนี้จะช่วยให้เราได้มีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือได้ทำงานในบริษัทต่างชาติชั้นนำอีกด้วย
 
 
 
 
 

 
 

 
 
 
 

 
 
 
 
 
Copyright © 2017 Fast English.
All Rights Reserved.
@